สำหรับพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงนั้น จะเริ่มจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารแล้วแสดงออกโต้ตอบกันไปมา จนเกิดเกลียวแห่งความขัดแย้ง (Spiral of Conflict) ที่ต่างคนต่างมีปฏิกิริยาตอบโต้กัน โดยจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดกลายเป็นความขัดแย้งที่มีความรุนแรง ซึ่งถ้าไม่สามารถยุติวงจรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้นั้น ก็จะนำไปสู่การทำลายล้างกัน เอาชนะคะคานกัน หรือ ที่เรียกว่า ความขัดแย้งแบบทำลายล้าง (Destructive Conflict) ส่วนทางออกของความขัดแย้งนั้นจะขึ้นอยู่กับแนวทางที่ต่างฝ่ายต่างเลือก ซึ่งพฤติกรรมเพื่อหาทางออกเมือเกิดความขัดแย้งนั้นใน ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้จำแนกออกเป็น (หนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 180 - 182)
- การแข่งขันหรือวิธีของฉัน (Competing or My Way): พฤติกรรมแนวนี้จะยึดถือความพยายามที่จะเอาชนะ มักจะเป็นวิธีการของผู้ที่มีอำนาจที่จะใช้อำนาจทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น
- การหลีกเลี่ยงหรือยอมถอย (Avoiding or No Way): เป็นพฤติกรรมที่พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาหรือยอมถอย ซึ่งจะพบมากในกลุ่มประเทศเอเชีย และกลุ่มประเทศลาตินอเมริกัน
- การประนีประนอมหรือแบ่งคนละครึ่ง (Compromising or Half War): เป็นวิธีที่ประสานการร่วมมืออย่างหนึ่ง หรือที่เรารู้จักกันดีคือ การเดินสายกลาง
- การยอมตามหรือแล้วแต่ผู้ใหญ่ (Accommodating or Your Way): เป็นพฤติกรรมที่สังคมชอบปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาความสัมพันธ์สูง มีความต้องการที่จะผลักดันความพยายามของตนเองน้อย ยอมรับแนวความคิดของคนอื่นโดยยกเลิกความต้องการของตนเอง คือ ยอมรับเชื่อฟังคำตัดสิน หรือคำสั่ง
- การร่วมมือกันหรือวิธีการของเรา (Collaborating or Our Way): เป็นพฤติกรรมที่ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะหาทางบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน เป็นการประสานประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์
ส่วนกระบวนการในการจัดการความขัดแย้งสามารถนำเสนอได้ตามตารางที่ 1 โดยผลของการตัดสินใจที่เป็นลักษณะ ชนะ-ชนะ (Win-Win) จะเกิดจาก การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง และ การเจรจาไกล่เกลี่ย
ถ้าคู่พิพาทเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาผลที่ได้จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ และอีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ อย่างไรก็ดี หลาย ๆ คนมักจะมีความเชื่อว่า ความรุนแรงจะช่วยยุติความขัดแย้งได้ เช่น การทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐ ฯ ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ เพราะต้องการให้สงครามในภาคพื้นแปซิฟิกยุติโดยเร็ว และลดการสูญเสียนาวิกโยธินของตนเองในการขึ้นยึดเกาะญี่ปุ่น แต่ความรุนแรงมักจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป เช่น ยุทธการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom) ของสหรัฐ ฯ ที่นำกำลังบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน เพื่อตามล่า บินลาดิน และล้มล้างรัฐบาลตอลีบาน ซึ่งสหรัฐ ฯ สามารถล้มล้างตอลีบานได้แต่ ความขัดแย้งยังไม่ได้ยุติ เพราะทุกวันนี้สหรัฐ ฯ ต้องคงกำลังไว้ที่อัฟกานิสถาน และทหารสหรัฐ ฯ เองก็ยังมีการสูญเสียอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ ยุทธการปลดปล่อยชาวอิรัก (Operation Iraqi Freedom) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สงครามอ่าวภาค 2 ที่สหรัฐ ฯ ยุติสงครามลงภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในอิรักตลอดเวลาจนมาถึงทุกวันนี้
ถึงตรงนี้คงมีคำถามตามมาว่าแล้ว “อะไรคือสันติวิธี” ดร.มาร์ค ตามไท ได้กล่าวถึงสันติวิธีไว้ว่า “สันติวิธีนั้นมีอยู่สองลักษณะคือ สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการและสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง” (อ้างถึงในหนังสือ “ความขัดแย้ง: หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา” พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ สถาบันพระปกเกล้า 2547 หน้าที่ 101 - 103) โดยมีรายละเอียดดังนี้
- สันติวิธีในการต่อสู้หรือเรียกร้อง (Peaceful Demonstrate/Protest): แนวทางในการต่อสู้นี้เป็นแนวทางที่ถูกนำมาใช้ เมื่อ เกิดความไม่พอใจหรือมีความเห็นไม่สอดคล้องกับผู้ที่มีอำนาจ มีการดำเนินการในลักษณะของการประท้วง หรือ การเรียกร้อง หรือการต่อสู้โดยการยื่นหนังสือขอเข้าพบ หรือ การชุมนุมกันเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย หรือ แสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ โดย สงบ สันติ ไม่มีอาวุธ การต่อสู้ในแนวทางนี้จะมีชื่อเรียกกันว่า “การดื้อแพ่ง” (Civil Disobedience) ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางทีมีต้นแบบจากแนวทางการต่อสู่แบบ “อหิงสา” ของ มหาตมคานธี ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดีย
- สันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Peaceful Conflict Resolution): สำหรับแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ใช้ในการแก้ปัญหาหลักจากที่ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้ว และพยายามที่จะยุติความขัดแย้งโดยการใช้แนวทางที่สันติ ซึ่งแนวทางที่เด่นชัดที่สุดได้แก่ การเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation) กันเองระหว่างคู่พิพาท หรือ โดยมีคนกลางซึ่งเป็นบุคคลที่สาม (เป็นบุคคลเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้) ช่วยในกระบวนการไกล่เกลี่ยและไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินชีขาดแต่จะเป็นผู้กำกับการเจรจาให้ดำเนินไปได้อันจะนำไปสู่ทางออก คือการยุติความขัดแย้ง
จากที่กล่าวมาจะพบว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดจะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ย และ การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง เพราะผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นไปในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างชนะ (Win-Win) ซึ่งการไกล่เกลี่ยนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้งคือ
- การเจรจาโดยยึดจุดยืน (Position-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้จะเป็นการเจรจาที่จะเอาแพ้ชนะเอาชนะกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนของตนเอง คู่เจรจาจะปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นศัตรูกัน ความเชื่อของการเจรจานี้จะเป็นลักษณะ Zero Sum Game ตามแนวคิดในทฤษฏีเกม (Game Theory) ที่ถ้าไม่แพ้ก็ต้องชนะ ผลของการเจรจาเช่นนี้มักยอมรับครึ่งทาง (Compromise) แต่การเจรจาในลักษณะนี้ไม่ควรจะนำมาใช้ในกรณีของความขัดแย้งในนโยบายสาธารณะ
- การเจรจาโดยยึดผลประโยชน์ (Interest-based Negotiation): การเจรจาในลักษณะนี้ไม่มองถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่จะมองและทำความเข้าใจของความต้องการ ความห่วงกังวลของฝ่ายอื่น การเจรจาลักษณะนี้จะเกิดจากคู่เจรจาทุกฝ่ายมาร่วมกัน แก้ปัญหา เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันโดยหวังให้ความต้องการของทุกฝ่ายได้รับการตอบสนอง ทุกฝ่ายจะไม่ระบุถึงจุดยืนของตนเอง แต่จะบอกถึง ความหวัง ความต้องการ ความห่วงกังวล ความหวาดระแวง
การทำความเข้าใจในเรื่องของความขัดแย้งและการยุติด้วยสันติวิธี เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในที่สุด ดังเช่นสถานการณ์ปัจจุบัน เราคงต้องยอมรับว่าบ้านเมืองของเราไม่เคยมีการแตกแยกทางความติดอย่างนี้มาก่อน ดังนั้นถ้าแกนนำของแต่ละฝ่ายมองไปยังผลประโยชน์ของประเทศชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเองแล้ว ผมเชื่อว่าเราคงผ่านวิกฤตการณ์ตรงนี้ไปได้ ประเทศไทยไม่ได้ขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่บุคคลทุกภาคส่วนต่างหากคือผู้ที่จะนำพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ประชาธิปไตยนั้นเสียงส่วนใหญ่ (Majority Rule)
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น